ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.30 - 16.00 น. ณ โรงแรมเวียงใต้ ถ.รามบุตรี บางลำพู

 


เครือข่ายละครกรุงเทพ (BTN) เรียนเชิญร่วมสัมมนาใน “โครงการสัมมนาระดมสมองค้นหาการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน”

(ผู้เข้าร่วมสัมมนากรุณาตอบกลับ โดยแจ้งจำนวน และ รายชื่อ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ)

เรียน ครู-อาจารย์-นักวิชาการด้านศิลปะการละคร
... ศิลปิน และ ผู้ประกอบการพื้นที่ทางศิลปะ
ชุมชนและประชาชน
สื่อมวลชนด้านศิลปวัฒนธรรม
ผู้สนับสนุน-อุปถัมภ์ ภาครัฐบาล-ภาคเอกชน
และผู้สนใจทุกท่าน

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) รายละเอียดโครงการฯ
2) กำหนดการสัมมนา
3) แบบตอบรับ
download ได้จาก link นี้
http://cid-aed1039184741270.skydrive.live.com/redir.aspx?resid=AED1039184741270%2112973&authkey=1hnKFSZkiZ0%24
หรือ scroll down

ด้วย เครือข่ายละครกรุงเทพ ร่วมกับ ประชาคมบางลำพู และ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการสืบเนื่องจากเทศกาลละครกรุงเทพ 2552 โดยจัดเป็น โครงการสัมมนาระดมสมองค้นหาการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน ดังรายละเอียดโครงการที่ส่งมาด้วยนี้

คณะทำงานฯ เห็นว่าท่านเป็นผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ และประสบการณ์ กับโรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงเรียนมาเพื่อขอเชิญท่านร่วมเป็นเกียรติเข้า ร่วมสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน ใน วันศุกร์ที่ 8 และ วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมเวียงใต้ (ห้องเทพประทาน ชั้น 7) ถ.รามบุตรี บางลำพู กรุงเทพมหานคร ตามเวลาในกำหนดการที่ส่งมาด้วยนี้

คณะทำงานฯ ตระหนักเป็นอย่างดีว่าการเรียนเชิญครั้งนี้ เป็นการเรียนเชิญที่กระชั้นชิด และปัจจุบันทันด่วนเกินไป แต่ด้วยความหวังที่จะทำให้โครงการดังกล่าวสำเร็จสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคฝ่าย จึงจำเป็นต้องจัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้นอย่างกะทันหัน จึงกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งในความกรุณาสละเวลาอันมี ค่ายิ่งของท่าน เพื่อเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ อันมีค่ายิ่งต่อการดำเนินงานเชิงวิชาการ เกี่ยวกับ การจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นประโยขน์แก่การสร้างพื้นที่ของชุมชนทางศิลปะการละครร่วมสมัย และศิลปะร่วมสมัยแขนงอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ กรุณาตอบรับกลับมาทางผู้ประสานงาน เพื่อแจ้งรายนาม และ จำนวน ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการด้านสถานที่และอาหาร-เครื่องดื่มรับรองท่านต่อไป และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ
นางสาวพิณทิพย์ สัตย์เพริศพราย
ผู้อำนวยการโครงการฯ

ประสานงานกลาง : นางสาวคคนันต์ นพคุณ (เบส) โทร. 08 4426 6680 e-mail khakanant@hotmail.com

หมายเหตุ จำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา แต่ละองค์กรสามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ 2 ท่าน หากท่านมีความประสงค์เข้าร่วมสัมมนามากกว่า 2 ท่าน คณะทำงานฯ ยินดียิ่ง โดยกรุณาแจ้งกลับทางผู้ประสานงานล่วงหน้า

รายละเอียดโครงการ
โครงการสัมมนาระดมสมองค้นหาการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน
โดย เครือข่ายละครกรุงเทพ ร่วมกับ ประชาคมบางลำพู
และ แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

1. หลักการและเหตุผล
“เครือข่ายละครกรุงเทพ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยความร่วมมือของ ครู-อาจารย์ด้านการละคร เพื่อรวมตัวกันถ่ายทอดองค์ความรู้ อันเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน และเป็นการร่วมมือกันของผู้สร้างสรรค์งานละครเวทีร่วมสมัย ในการนำเสนอผลงานศิลปะการละครร่วมสมัยอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศิลปะการละครให้เกิดคุณประโยชน์ต่อชาติในด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และศิลปะวิทยาการ อันถือเป็นต้นทุนใหม่ทางวัฒนธรรมให้แก่สังคมไทย โดยสร้างและเสริมศักยภาพของบุคลากรทางการละครให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒต์ ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายฯ กว่า 50 คณะ ประกอบด้วย คณะละครอาชีพที่ไม่มุ่งผลกำไร คณะละครหนุ่มสาววัยสร้างสรรค์ กลุ่มละครนักศึกษา และ ชุมนุม-ชมรมการละคร รวมทั้งภาควิชาศิลปะการละคร ในสถาบันต่างๆ นักวิชาการ และศิลปินละครอิสระ ได้ผสานกันอย่างกลมเกลียว เกื้อหนุนกันและกันจนเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่เคลื่อนผ่านมานั้น เครือข่ายละครกรุงเทพ ได้จัดงาน “เทศกาลละครกรุงเทพ” ขึ้น สืบต่อกันมาเป็นประเพณี ณ สวนสันติชัยปราการ และในร้านอาหารบนถนนพระอาทิตย์ รวมถึงสถานที่ประเภทต่างๆ ย่านบางลำพู โดยร่วมมือกับ ประชาคมบางลำพู สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และ องค์กรเพื่อสังคม องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ชมได้รับสาระประโยชน์ สาระบันเทิง และความสุขความประทับใจในบรรยากาศแห่งความอบอุ่นสนุกสนานของคนละคร
ผลจากการนำเสนอผลงานละครเวทีร่วมสมัยในงานเทศกาล ละครกรุงเทพ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในพื้นที่เล็กๆ อันหลากหลายย่านบางลำพู เรื่อยมาจนกระทั่งใน พ.ศ. 2553 นี้ สมาชิกของเครือข่ายละครกรุงเทพ ได้ขยายเส้นทางของศิลปะการแสดงไปยังส่วนต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยก่อกำเนิดโรงละครเล็กๆ เพื่อเป็นพื้นที่ของตนเองขึ้น ด้วยกำลังทรัพย์อันพอมี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเลี่ยงการเช่าโรงละครเวที ใหญ่ๆ ดังที่ละครกระแสหลักนิยมใช้กัน ซึ่งศิลปินและคณะละครเวทีร่วมสมัย เฉกเช่น สมาชิกเครือข่ายละครกรุงเทพ ทั้งหลายไม่อาจจะมีทุนทรัพย์พอจะเช่าพื้นที่ใหญ่ราคาสูง เพื่อเสนอผลงานได้
ปัจจุบัน “โรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน” ของสมาชิกเครือข่ายฯ ได้รับการยอมรับจาก ศิลปินผู้ใช้โรงละครเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงาน และผู้ชมที่ได้เสพศิลปะการละครที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่องเสมอมา แม้ว่าศิลปิน หรือ คณะละครผู้เป็นเจ้าของจะประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง ตามปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการบริหารจัดการ
เครือข่ายละครกรุงเทพ เห็นสมควรว่าควรใช้กระแสการเติบโตของโรงละครทางเลือกเล็กๆ ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นรายรอบกรุงเทพฯ ตามการขานรับของผู้ชม และเริ่มหันมาเห็นคุณค่าของโรงละครโรงเล็กๆ ยึดมั่นเป็นพื้นที่ทางเลือกเพื่อใกล้ชิดกับละครร่วมสมัยที่สามารถนำสาระชีวิตผ่านศิลปะให้เข้าถึงชุมชนได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้นในขณะนี้ ส่งเสริมให้ก่อเกิดโรงละครทางเลือกเช่นนี้เพิ่มขึ้น และกระจายทั่วกรุงเทพ อย่างต่อเนื่องในระยะยาวต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการเพิ่มสุนทรียะในการดำเนินชีวิตของคนไทย และสร้างดัชนีความสุขมวลรวมในประเทศได้อย่างแยบยล และยั่งยืน
สืบเนื่องจาก “โครงการเทศกาลละครกรุงเทพ ๒๕๕๒” ซึ่งได้จัดทำเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น “แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ผู้อุปถัมภ์โครงการฯ ได้มีมติให้ “เครือข่ายละครกรุงเทพ” ร่วมกับ “ประชาคมบางลำพู” และ “แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” จัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการศึกษารูปแบบ วิธีการ ผลการดำเนินงาน อุปสรรค ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา ของโรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยสมาชิกของเครือข่ายละครกรุงเทพ ทั้งสมาชิกประเภทสามัญ และ สมาชิกประเภทวิสามัญ ผู้ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายละครเป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
โดยทำการศึกษาจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (สัมมนา, สัมภาษณ์, เก็บข้อมูลจากสถานที่จริง) ได้แก่
1.1 8x8 Theatre corner
1.2 Crescent Moon Space
1.3 มะขามป้อมสตูดิโอ
1.4 โรงละครมรดกใหม่
1.5 Democrazy Theatre Studio
1.6 โรงละครชุมชนมันตา (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น Monta Arts Space)
1.7 โรงละครหน้ากากเปลือย (Naked Masks Playhouse)
และศึกษาจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่
1.8 กลุ่มละคร ณ หนา แห่งนครลำปาง
1.9 โรงละครช้าง โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น

ต่อจากนั้น คณะทำงานด้านวิชาการได้นำสรุปผลการศึกษามาสกัดความรู้นำเสนอเป็นความรู้ใหม่ คือ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยได้รับความกรุณาจาก “แม่ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ.2536 อนุเคราะห์ให้ใช้ “บ้านดุริยประณีต” หลังวัดสังเวช ย่านบางลำพู อันเป็นสถานที่ถ่ายทอดศิลปะการดนตรีและศิลปะละคร เป็นที่ตั้งของ “มูลนิธิดุริยประณีต” และเป็นที่ทำการ “คณะดุริยประณีต” วงดนตรีไทยซึ่งยังมีชีวิตชีวาอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นแบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนดังกล่า
ขณะนี้คณะทำงานด้านวิชาการได้ดำเนินงานมาถึงขั้นตอนสำคัญของการสกัดความรู้แล้ว นั่นคือการระดมสมองค้นหาการจัดการโรงละครชุมชน จึงจัดให้มี “โครงการสัมมนาระดมสมองค้นหาการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” ขึ้น

2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเผยแพร่สรุปผลการศึกษา “โรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน” ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยสมาชิกของเครือข่ายละครกรุงเทพ ทั้งสมาชิกประเภทสามัญ และ สมาชิกประเภทวิสามัญ ผู้ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายละครเป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
2.2 เพื่อนำเสนอความรู้ใหม่ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น” ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
2.3 เพื่อแสวงหาข้อมูลจำเป็นประกอบ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” จากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในด้านของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ และสามารถนำไปพัฒนาให้ใช้ได้จริง ก่อนนำ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” เผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

3.กลุ่มเป้าหมาย

3.1ครู-อาจารย์-นักวิชาการด้านศิลปะการละคร และวัฒนธรรม ได้แก่
•ครู-อาจารย์-นักวิชาการ ด้านศิลปะการละคร, ละครเวที
•ครู-อาจารย์ -นักวิชาการ ด้านการจัดการบริหารศิลปวัฒนธรรม และ ธุรกิจสร้างสรรค์ :- การแสดง ละครเวที อุตสาหกรรมบันเทิง มรดกทางวัฒนธรรม
•ครู-อาจารย์-นักวิชาการ ผู้สนใจ

3.2 ศิลปิน และ ผู้ประกอบการพื้นที่ทางศิลปะ ได้แก่
• ผู้ประกอบการโรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน สำหรับนำเสนอผลงานละครเวที และศิลปะร่วมสมัยด้านอื่นๆ
• ผู้ประกอบการพื้นที่เล็กๆ หรือ พื้นที่ชุมชน สำหรับนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยด้านอื่นๆ
• ศิลปินละครเวทีร่วมสมัยผู้ใช้โรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน สำหรับนำเสนอผลงานละครเวที
• ศิลปินละครเวทีร่วมสมัย และ ศิลปินร่วมสมัยด้านอื่นๆ ผู้สนใจ

3.3 ชุมชนและประชาชน ได้แก่
• ผู้นำชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่อันประกอบด้วยบุคลากร-มรดกทางวัฒนธรรม-ชุมชนเข้มแข็ง
• ผู้นำเยาวชนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่อันประกอบด้วยบุคลากร-มรดกทางวัฒนธรรม-เยาวชน-ชุมชนเข้มแข็ง
• บุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมจากชุมชนต่างๆ
• ผู้แทนชุมชน-องค์กรด้านศิลปวัฒนธรรม และประชาชนผู้สนใจ

3.4 สื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
• ผู้แทนจาก องค์กรสื่อด้านศิลปวัฒนธรรม-บันเทิง-ละครเวทีร่วมสมัย
• นักเขียน-นักวิจารณ์ ศิลปวัฒนธรรม-บันเทิง-ละครเวทีร่วมสมัย อิสระ
• สื่อมวลชนผู้สนใจ

3.5 ผู้สนับสนุน-อุปถัมภ์ ภาครัฐบาล
• ผู้แทนจาก แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
• ผู้แทนจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)
• ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม :- สำนักปลัดกระทรวงฯ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) หน่วยงานอื่นๆ ผู้สนใจ
• ผู้แทนจาก กรุงเทพมหานคร:- สำนักปลัดกทม. ฝ่ายวัฒนธรรม ฝ่ายวัฒนธรรมเขตพระนคร, ฝ่ายวัฒนธรรมเขตต่างๆ ผู้สนใจ
• ผู้แทนจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
• ผู้แทนจาก ภาครัฐบาลอื่นๆ ผู้สนใจ

3.6 ผู้สนับสนุน-อุปถัมภ์ ภาคเอกชน
• ผู้แทนจาก ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่เคยให้ความอนุเคราะห์ด้านต่างๆ แก่ เครือข่ายละครกรุงเทพ เช่น สถาบันปรีดี พนมยงค์ บ้านจิม ทอมป์สัน โรงภาพยนตร์ลิโด้ นิตยสาร Happening ฯลฯ
• ผู้แทนจาก ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีนโยบายสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม-การแสดง-ละครเวที ผู้สนใจ

4. วันเวลา และ สถานที่จัด
วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553
เวลา 09.30 – 16.00 น. ณ โรงแรมเวียงใต้ ถ.รามบุตรี บางลำพู
เวลา 18.00 – 19.00 น. ณ บ้านดุริยประณีต บางลำพู

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553
เวลา 09.30 – 16.00 น. ณ โรงแรมเวียงใต้ ถ.รามบุตรี บางลำพู

รวมจำนวน 2 วัน

5. ผู้รับผิดชอบโครงการ
นายประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน
และมีคณะทำงานวิชาการศึกษาโรงละครชุมชน เครือข่ายละครกรุงเทพ ดังต่อไปนี้
1) นางสาวพิณทิพย์ สัตย์เพริศพราย
นักวิชาการอิสระ ด้านการจัดการศิลปะการแสดง - อำนวยการดำเนินงาน
(ครูป๊อก 08 6545 4020, 08 9895 4020 pock_pintip@hotmail.com, pock_pintip@yahoo.com, pockpintip@gmail.com)

2) นางสาวสุรวดี รักดี
นักวิชาการอิสระ ด้านศิลปะการแสดง และสื่อสำหรับเยาวชน – ช่วยดำเนินงาน
(อี๋ 08 6500 8682 ee2593@hotmail.com)

3) นายอภิรักษ์ ชัยปัญหา
อาจารย์ประจำ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
(อ.โย 08 1559 3847 yokeeac@gmail.com, yokee_ac@hotmail.com)

4) นางสาวมนัสกานต์ อินทรสังข์
อ.ประจำ คณะวิชาสื่อสารการแสดงและสื่อสมัยใหม่
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต – ศึกษาโรงละครชุมชนที่เกิดขึ้น
(อ.จิ๊บ 08 1550 4222 nu_jib@hotmail.com, arjarn_nujib@hotmail.com)

5) นางสาวชญาดา รุ่งเต่า
รักษาการณ์หัวหน้าภาควิชาสื่อสารการแสดง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ – สกัดความรู้เป็นแบบจำลองโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน
(อ.ใหม่ 08 1353 2204 chayadarng@hotmail.com)

6) นางสาวสุทธาทิพย์ พยัคชาติ
นักวิชาการอิสระ ด้านศิลปวัฒนธรรม และสื่อสำหรับเยาวชน – วิเคราะห์ สกัดความรู้ เป็นข้อเขียนเชิงวิชาการ
(ก้อย 08 1842 2028 ku_koy@hotmail.com)

7) นางสาวคคนันต์ นพคุณ
ประสานงานกลาง (เบส 08 4426 6680 khakanant@hotmail.com)

และคณะทำงานจัดการจากเครือข่ายละครกรุงเทพ

6. รายละเอียดกิจกรรม (กำหนดการ)

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553
09.30 – 09.45 น.
ผู้ร่วมสัมมนาเดินทางมาถึง – ลงทะเบียน – รับประทานอาหารว่าง
ณ ห้องเทพประทาน ชั้น 7 โรงแรมเวียงใต้ ถ.รามบุตรี บางลำพู กรุงเทพฯ

09.45 – 10.00 น.
นางสาวพิณทิพย์ สัตย์เพริศพราย ผู้อำนวยการโครงการฯ ผู้แทนคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายละครกรุงเทพ กล่าวถึงการดำเนินการโครงการฯ
นาย ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา

10.10 – 10.30 น.
ปาฐกถาพิเศษ โดย วิทยากรพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรมชุมชน (อยู่ระหว่างประสานงาน จะยืนยันนามของวิทยากรต่อไป)

10.30 – 12.00 น.
ผู้แทนคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายละครกรุงเทพ นำเสนอ สรุปผลการศึกษา
เรื่อง “โรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน” ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยสมาชิกของเครือข่ายละครกรุงเทพ ทั้งสมาชิกประเภทสามัญ และ สมาชิกประเภทวิสามัญ ผู้ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายละครเป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

12.00 – 13.00 น.
รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ห้องอาหารรสสิรินทร์ ชั้น 1 (บุปเฟ่ต์)

13.00 – 14.30 น.
ผู้แทนคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายละครกรุงเทพ นำเสนอ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น”

14.30 – 14.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง

14.45 – 16.00 น.
ผู้แทนคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายละครกรุงเทพ ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น”

16.00 – 18.00 น.
พักผ่อน หรือ เดินท่องเที่ยวย่านบางลำพู เลือกสรรอาหารรสเลิศได้ตามร้านค้าต่างๆ ตามอัธยาศัย

18.00 – 19.00 น.
ชมการแสดงที่ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น” ณ บ้านดุริยประณีต ถนนบางลำพู (หลังวัดสังเวช)

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553
09.30 – 09.45 น.
ผู้ร่วมสัมมนาเดินทางมาถึง – ลงทะเบียนแยกกลุ่ม
ณ ห้องเทพประทาน ชั้น 7 โรงแรมเวียงใต้ ถ.รามบุตรี บางลำพู กรุงเทพฯ

09.45 – 12.00 น.
สัมมนากลุ่มย่อยเพื่อรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง โดยมีผู้ดำเนินการสนทนาประจำกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ตามกลุ่มเป้าหมาย แยกไปตามห้องประชุมต่างๆ ของโรงแรมเวียงใต้ (มีอาหารว่างบริการระหว่างสัมมนา)

12.00 – 13.00 น.
รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ณ ห้องอาหารรสสิรินทร์ ชั้น 1 (บุปเฟ่ต์)

13.00 – 14.30 น.
ผู้แทนกลุ่มนำเสนอผลสรุปความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาประจำกลุ่

14.30 – 14.45 น.พักรับประทานอาหารว่าง

14.45 – 15.45 น. ถาม-ตอบข้อซักถามผลสรุปความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาประจำกลุ่

15.45 – 16.00 น.
ผู้แทนคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายละครกรุงเทพ สรุปการสัมมนา
ผู้แทนจาก แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปิดการสัมมนา


7. ประโยชน์ที่ได้รับ
7.1 ได้เผยแพร่สรุปผลการศึกษา “โรงละครโรงเล็ก และหรือ โรงละครชุมชน” ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยสมาชิกของเครือข่ายละครกรุงเทพ ทั้งสมาชิกประเภทสามัญ และ สมาชิกประเภทวิสามัญ ผู้ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายละครเป็นอย่างดีเสมอมา เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น
7.2 ได้นำเสนอความรู้ใหม่ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น” ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
7.3 ได้ข้อมูลจำเป็นประกอบ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” จากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในด้านของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ และสามารถนำไปพัฒนาให้ใช้ได้จริง ก่อนนำ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” เผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

8. ตัวบ่งชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
8.1 ปริมาณข้อมูลจำเป็นที่เพียงพอต่อการประกอบ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” จากผู้เข้าร่วมสัมมนา ในด้านของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ และสามารถนำไปพัฒนาให้ใช้ได้จริง
8.2 ระดับความพึงพอใจ และข้อเสนอแนะ ของผู้เข้าร่วมสัมมนา

9. วิธีประเมินโครงการ
9.1 ตรวจสอบความเพียงพอของปริมาณข้อมูลจำเป็นต่อการประกอบ “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” จากผู้เข้าร่วมสัมมนา ในด้านของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ และสามารถนำไปพัฒนาให้ใช้ได้จริง ที่ได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนา
9.2 ตรวจสอบความพึงพอใจ และข้อเสนอแนะ ของผู้เข้าร่วมสัมมนา

10. การรายงานผลการดำเนินงาน
10.1 จัดทำสรุปข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนา “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืนเบื้องต้น” เป็น “แบบจำลองการจัดการโรงละครชุมชนอย่างยั่งยืน” ในรูปแบบ รูปเล่มเชิงวิชาการ เพื่อนำเสนอเป็นรายงาน
10.2 จัดทำบันทึกการสัมมนาในรูปแบบวิดีทัศน์ ภาพนิ่ง และภาพนำเสนอ (presentation) เพื่อนำเสนอเป็นรายงาน







--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น